“พี่ใหญ่” อบจ.โคราช แทคทีม “อปท.”
คลอด 22 ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ สุขใจใกล้บ้าน
เพื่อการเข้าถึงผู้ป่วยในชุมชนและที่บ้าน
วันที่ 28 มิถุนายน 2566 ที่ รร.แคนทารี โคราช #นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา ในฐานะ ปธ.กก.กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ จ.นครราชสีมา ประธานในพิธี พร้อมด้วย นพ.สุผล ตติยนันทพร นพ.สสจ.นครราชสีมา และ พญ.สาวิตรี วิษณุโยธิน ผอ.สปสช.เขต 9 นครราชสีมา ร่วมเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ สุขใจใกล้บ้าน พร้อมลงนาม MOU ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)นำร่อง ในการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพฯ ส่งเสริมการจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านสุขภาพชุมชนสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะกึ่งเฉียบพลัน และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง เน้นการพัฒนารูปแบบดูแลช่วยเหลือในระดับชุมชนและที่บ้าน โดยในปีงบประมาณ 2566 มี อปท. ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูฯ จำนวน 22 แห่ง ในพื้นที่ อ.คง อ.หนองบุญมาก อ.ประทาย อ.โนนไทย อ.ขามสะแกแสง อ.เสิงสาง อ.ครบุรี อ.โชคชัย อ.โนนแดง อ.ขามทะเลสอ อ.วังน้ำเขียว อ.บัวใหญ่ และ อ.เมืองยาง
สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เป็นการลงนามระหว่างกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดนครราชสีมา โดย นางยลดา หวังศุภกิจโกศล ปธ.กก.กองทุนฟื้นฟู กับ ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ สุขใจใกล้บ้าน เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 22 แห่ง โดยมี นพ.สุผล ตติยนันทพร นพ.สสจ.นครราชสีมา และ พญ.สาวิตรี วิษณุโยธิน ผอ.สปสช.เขต 9 นครราชสีมา ลงนามเพื่อเป็นสักขีพยาน
ทั้งนี้ใน MOU ระบุถึงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะพัฒนาความร่วมมือ ซึ่งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ จ.นครราชสีมาจะดำเนินการสนับสนุนงบประมาณให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูฯ เพื่อจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านสุขภาพในชุมชนสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะกึ่งเฉียบพลัน และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น โดยมี พ.ต.อ.รัฐศักดิ์ สุขเจริญ รองนายก อบจ.นครราชสีมา, นางรังสิยา นุทกิจ ผอ.กองสวัสดิการสังคม,สมาชิกสภา อบจ.นครราชสีมา,ปลัดอำเภอ, สาธารณสุขอำเภอ, โรงพยาบาลอำเภอ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่เป็นภาคีเครือข่าย ร่วมงาน
ด้าน นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา ในฐานะ ปธ.กก.กองทุนฟื้นฟูสรรถภาพ จ.นครราชสีมา กล่าวถึงความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพฯ ว่า “การร่วมมือกันในครั้งนี้นับเป็นการบูรณาการร่มกับภาคีเครือข่าย ในการจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านสุขภาพ ในชุมชนสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะ กึ่งเฉียบพลัน และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง เน้นสนับสนุนการจัดบริการ การพัฒนารูปแบบดูแลช่วยเหลือ และฟื้นฟูสมรรถภาพของกลุ่มเป้าหมายให้ได้รับบริการในระดับชุมชนและที่บ้าน ที่สำคัญสามารถลดความแออัด ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาล และคำนึงถึงการให้ผู้รับบริการได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายให้แข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้การเน้นย้ำให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง พื้นที่เป็นฐานในการสร้างความมั่นคง ยิ่งไปกว่านั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ผู้นำเล็งเห็นในจุดมุ่งหมายเดียวกัน เชื่อว่าจะสามารถนำพาศูนย์ฟื้นฟูฯ แห่งนี้ไปสู่ความยั่งยืนอย่างแน่นอน